วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วิทยากรอบรมเชิงปฏิบัตการการใช้และบำรุงรักษาเครื่องพ่น(ภาคแรก)


เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา

ผมและทีมงานได้รับเชิญเป็นวิทยากร "โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้และบำรุงรักษาเครื่องพ่นควบคุมโรคไข้เลือดออก"

ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตาก จำนวนผู้เข้าร่วมอบรม 24 คน(หมู่บ้านละ 3 คน)

วัตถุประสงค์:ในการอบรม คือ การมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้และบำรุงรักษาเครื่องพ่นทางการสาธารณสุขในงานควบคุมโรคไข้เลือดออก

ในช่วงเช้า มีการบรรยายให้ความรู้เรื่อง ความรู้โรคไข้เลือดออก,การเลือกสารเคมีกำจัดแมลงในงานควบคุมโรคไข้เลือดออก(โดยวิทยากรสุดหล่อประจำ ศตม.8.1 เป็นใครไม่ได้นอกจาก ผมเอง..55) ช่วงบ่าย เรื่อง การใช้และบำรุงรักษาเครื่องพ่น โดย พี่วิโชติ และทีมงาน


ก่อนอื่นแนะนำวิทยากรว่าไผ๋เป็นไผ๋

หวัดดีครับพื่น้อง สมัยหน้าอย่าลืมเชิญผมมาอีกนะครับ..ท่านนายก

เครื่องพ่นที่นิยมใช้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออกจำแนก 2 ประเภทครับ ชนิดเครื่องพ่นหมอกควัน และเครื่องพ่น ฝอยละออง :พี่วิโชติเขาว่าอย่างนั้น
สมกับคำเล่าลือ เขาบอกว่าแม้แต่เป็ด ใน ศตม.8.1 กำแพงเพชรก็สามารถเป็นวิทยากรได้ ผมชื่อเป็ดครับ ..ก๊าบๆ

วิทยากรครับ..มันจะติดไหมครับเนี่ย..ไม่น่าให้ให้ผมผ่าเครื่องเลย ผมและเพื่อนๆยืนให้กำลังใจอยู่ครับ

เอ้า..คุณพี่จะใส่ถูกใหมครับนี่ เอาอย่างนี้ก่อนที่จะให้ผมช่วย มีพระดีๆ เอามาให้หมด

อา..ชัยรัตน์สู้ๆ ท่านเหลืออายุราชการเพียง 8 เดือนเท่านั้น แต่ใจรักที่จะเป็นวิทยากรถ่ายทอดให้ผู้เข้าอบรมเต็มที่


ประกอบเครื่องพ่นเสร็จก็ทดสอบ ว่าเครื่องยังติดอยู่ใหม หลังจากก่อนหน้านี้พึ่งใส่น็อตตัวสำคัญลงไป...รอดตายค่ะ

อาฉัตร หัวหน้า ศตม.8.1 กำแพงเพชร ก็เดินทางมาให้กำลังใจด้วยครับ

พี่โอวิทยากรคนเก่งของเรา นำผู้เข้าอบรมเข้าสู่ Section สรุปบทเรียนการอบรมในครั้งนี้
ผู้ก่อการดีทั้งสี่ท่าน(อาฉัตร,หมอแมว,พี่ริน และพี่วิโชติ) ให้ข้อวิพากษ์การอบรม...โปรดฟังอีกครั้ง
นายก อบต.หนองบัวใต้ แจกใบรับรองการผ่านหลักสูตรการใช้ และบำรุงรักษาเครื่องพ่นสารเคมีควบคุมโรคไข้เลือดออก
นายก อบต.หนองบัวใต้ กล่าวปิดการอบรม..

ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระทึก..เอ่อ ที่ระลึกครับ ไม่ครบหายไป7 คน(ขอรับลูกที่โรงเรียน)







วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ตำราพิชัยสงครามซุนวูกับ SWOT Analysis



ถ้าใครเคยอ่าน ตำราพิชัยสงคราม กลยุทธ์ต่างๆในการทำสงคราม ผมคิดว่าน้อยคนที่จะไม่มีใครที่จะไมรู้จัก ปรมาจารย์ในการวางแผนยุทธศาสตร์การรบที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลกคือ "ซุนวู"


ซุนวู ตามที่ประวัติเท่าที่ค้นพบ เป็นคนแคว้นฉีในยุคซุนชิว(พอดีผมเกิดมาไม่ทัน ไม่งั้นคงเป็นศิษย์เอกท่านแน่นอน.55.. ฝันอีกแล้ว)

ซุนวูได้เป็นแม่ทัพ ก็ได้สร้างความดีความชอบในการทำสงครามเป็นอันมาก เขาจึงได้เขียน "ตำราพิชัยสงคราม 13 บท"(ปัจจุบันคงคล้ายๆกับการถอดบทเรียนครับ=AAR) ให้ไว้เพื่อให้แม่ทัพรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวทางต่อ ซุนวูผ่านชีวิตสงครามมา 30 ปี สุดท้ายเขาเอือมระอาต่อวงราชการ จึงหลบหนีไปแสวงหาความวิเวกในป่าลึก จวบจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิต

แม้ซุนวูจะตายแล้ว "ตำราพิชัยสงครามซุนวู" ยังเป็นที่สนใจแพร่หลายในประเทศจีน ยอดการทหารของจีน เช่น ซุนปิง หานซิ่น โจโฉ ขงเบ้ง เหมาเจ๋อตุง ล้วนแต่ยึดตำราพิชัยสงครามซุนวูเป็นหลัก

ในต่างประเทศ ประเทศแรกที่นำตำรานี้ออกไป คือ ประเทศญี่ปุ่น

ส่วนการแพร่หลายในประเทศทางตะวันตกนั้น นโปเลียน โบนาปาร์ต(ฝรั่งเศส) ก็เคยอ่าน ตำราพิชัยสงครามของซุนวู

พระเจ้าไกเซอร์ แห่งเยอรมันนี หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วภายหลังได้อ่าน ตำราพิชัยสงครามของซุนวู อ่านเสร็จก็อุทานว่า "หากเราได้อ่านตำราพิชัยสงครามของซุนวูมาก่อนหน้านี้ เราคงไม่ต้องสูญชาติ"นอกจากนั้น ในรัสเซีย เยอรมัน เชคโกสโลวาเกีย สหรัฐอเมริกา ก็มีฉบับแปลของตำราพิชัยสงครามซุนวูอยู่ทั้งนั้น

ผมได้มีโอกาสได้อ่านจนครบ 13 บทมาแล้วครั้งหนึ่ง ถ้ามีโอกาสก็จะอ่านอีกสักรอบครับ แต่สามารถจับ Concept ที่สามารถสะท้อนความเป็นวิชาการของปรัชญาเมธีที่ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้คือ สัจพจน์อมตะของซุนวู ที่ว่า"รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย"

ในความคิดส่วนตัว ผมคิดว่าถ้าเราวิเคราะห์สัจพจน์ของซุนวูท่อนนี้ สามารถนำมาเทียบเคียงประยุกต์ใช้ในงานวิชาการของเรา ก็คงใกล้เคียง ทฤษฎี SWOT Analysis เพราะSWOT Analysis เป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ สำหรับองค์กร หรือโครงการ

"SWOT" นั้นมาจากตัวย่อภาษาอังกฤษ 4 ตัว ได้แก่


S มาจาก Strengths หมายถึง จุดเด่นหรือจุดแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เป็นข้อดีที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในองค์กร

W มาจาก Weaknesses หมายถึง จุดด้อยหรือจุดอ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายในองค์กร เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายใน

O มาจาก Opportunities หมายถึง โอกาส เกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกขององค์กรเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กร โอกาสแตกต่างจากจุดแข็งตรงที่โอกาสนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก แต่จุดแข็งนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายใน

T มาจาก Threats หมายถึง อุปสรรค ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องและพยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้จริง
จะเห็นได้ว่าสัจพจน์แก่นสำคัญในตำราพิชัยสงครามของซุนวู ที่กล่าวว่า "รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย"กับ SWOT Analysis มีความเหมือนของการนำไปใช้ประโยชน์ บนความแตกต่างของกาลเวลาเท่านั้นเอง...





วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

การเขียนรายงานสอบสวนโรค(How to Write an Epidemiologic Investigation Report)

การสอบสวนทางระบาดวิทยาของโรคหรือปัญหาสาธารณสุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยหรือโรคไม่ติดต่อก็ตาม ขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวน ได้แก่ การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา เพื่อนำเสนอเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการดำเนินงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับผู้บริหารสาธารณสุขจนถึงผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนโรคควรให้ความสำคัญกับการเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า

วัตถุประสงค์ของการเขียนรายงานสอบสวน
1. เพื่อรายงานผลการสอบสวนทางระบาดวิทยา
2. เพื่อเสนอข้อคิดเห็นแก่ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ
3. เพื่อเป็นองค์ความรู้และแนวทางในการสอบสวนโรคครั้งต่อไป
4. เพื่อบันทึกเหตุการณ์ระบาดของโรคหรือปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้น

ประเภทของรายงาน
รายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา แบ่งตามลักษณะรายงานได้เป็น 3 ประเภท หลักๆ ดังนี้
1. รายงานการสอบสวนเสนอผู้บริหาร แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ รายงานการสอบสวนเบื้องต้น (Preliminary Report) และรายงานการสอบสวนสรุปเสนอผู้บริหาร (Final Report)
1.1 รายงานการสอบสวนเบื้องต้น (Preliminary Report) เป็นรายงานที่ผู้สอบสวนโรคจัดทำไว้เสนอต่อผู้บริหารงานสาธารณสุขโดยเร็ว เพื่อที่จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทันทีภายหลังจากที่ได้ทำการสอบสวนโรคจนได้ข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญๆ รายงานการสอบสวนเบื้องต้นมักจะประกอบด้วย 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ ความเป็นมา ผลการสอบสวนที่เน้นประเด็นสำคัญๆที่พบในการสอบสวนโรค แนวโน้มของการระบาด กิจกรรมควบคุมโรคที่ได้ดำเนินไปแล้ว สรุปความสำคัญและเร่งด่วน และข้อเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ควรจะจัดทำทันทีเมื่อกลับมาจากการสอบสวนในพื้นที่ รายงานการสอบสวนเบื้องต้นอาจจะขาดความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหา แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคให้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์โรคในขณะนั้น และความยาวของรายงานมักจะไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ
1.2 รายงานการสอบสวนสรุปเสนอผู้บริหาร (Final Report) เป็นรายงานการสอบสวนที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อผู้บริหารสาธารณสุข เมื่อสิ้นสุดการสอบสวนโรคและเหตุการณ์นั้นแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปรายละเอียดผลการสอบสวนโรคให้ครบถ้วน และบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งสัมฤทธิ์ผลจากการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคที่ได้ดำเนินการ ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำหรับใช้อ้างอิงต่อไป
2. รายงานการสอบสวนฉบับสมบูรณ์ (Full Report) เป็นรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาที่ผู้สอบสวนและทีมงานร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อสรุปรายละเอียดของผู้ป่วยหรือเหตุการณ์การระบาดของโรคที่ได้จากการสอบสวน รายงานประกอบด้วยชื่อเรื่อง ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค บทคัดย่อ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ วิธีการศึกษา ผลการสอบสวนโรค ตลอดจนกิจกรรมควบคุมป้องกันโรคต่างๆที่ได้ดำเนินการ ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวน วิจารณ์ผล สรุปผล ข้อเสนอแนะ กิตติกรรมประกาศ และเอกสารอ้างอิงซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์นี้จะเป็นตัวชี้วัดผลงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานได้เป็นอย่างดี

3. รายงานบทความวิชาการ (Scientific Article) เป็นบทความวิชาการที่สามารถใช้เผยแพร่ผลการสอบสวนโรคในวงกว้าง ผู้สอบสวนโรคเขียนขึ้นเพื่อส่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งวารสารแต่ละฉบับมักจะมีรูปแบบการเขียนที่บังคับเฉพาะแตกต่างกันไปบ้าง มีประโยชน์อย่างมากในการเผยแพร่ผลงานวิชาการในวงกว้างและได้รับการอ้างอึงถึงบ่อยครั้ง

1. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาเบื้องต้น


การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาเบื้องต้น เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของการเฝ้าระวังและสอบสวนทางระบาดวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อ หรือโรคไร้เชื้อ เช่น การบาดเจ็บ หรือโรคจากการประกอบอาชีพอื่นๆ เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยาควรจะเขียนรายงานการสอบสวนเบื้องต้น เสนอต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 24-48 ชั่วโมง ภายหลังกลับจากการสอบสวนในพื้นที่ เพื่อเป็นการแจ้งรายละเอียดให้กับผู้บริหารได้รับทราบและมีการดำเนินงานในขั้นต่อไป รายงานการสอบสวนเบื้องต้นมักมีความยาว 1-2 หน้ากระดาษ เอ 4
โดยทั่วไป ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ จะมีบทบาทหน้าที่หลักในการสอบสวนเหตุการณ์สาธารณสุขที่สำคัญในระดับอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนโรคเฉพาะราย เช่น กรณีที่มีผู้ป่วยเพียงรายเดียว หรือเพียงไม่กี่ราย ไปจนกระทั่งเมื่อพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและเข้าข่ายของการระบาด ก็จะนับเป็นการสอบสวนการระบาด อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว ก็นับว่าเป็นการระบาดได้ ถ้าหากเป็นโรคอุบัติใหม่ หรือโรคที่มีความสำคัญทางสาธารณสุข
ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนโรคเฉพาะรายหรือการสอบสวนการระบาดของโรค ผู้สอบสวนโรคจะทำการเก็บข้อมูลรายละเอียดจากผู้ป่วยทุกๆราย ดังนั้น การเขียนรายงานการสอบสวนเบื้องต้นทั้ง 2 กรณี จึงใช้หลักการเดียวกัน แตกต่างเพียงที่รายงานการสอบสวนโรคเฉพาะราย สามารถบรรยายให้รายละเอียดข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายได้ครบถ้วน ในขณะที่รายงานการสอบสวนการระบาด จะสรุปรายละเอียดข้อมูลผู้ป่วยทุกราย นำเสนอเป็นภาพรวมของการระบาด

องค์ประกอบของรายงานการสอบสวนเบื้องต้น (Preliminary report)
1. ความเป็นมา
2. ผลการสอบสวน
3. กิจกรรมควบคุมโรคที่ดำเนินการแล้ว
4. แนวโน้มของการระบาด
5. สรุปความสำคัญทางสาธารณสุขและความเร่งด่วน
6. ข้อเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

1. ความเป็นมา
เป็นส่วนที่บอกถึงที่มาของการออกไปสอบสวนโรค เช่น เริ่มต้นได้รับแจ้งข่าวการเกิดโรคจากใคร หน่วยงานใด เมื่อไร และด้วยวิธีใด คณะที่ออกไปร่วมสอบสวนประกอบด้วยใครหรือหน่วยงานใดบ้าง เริ่มสอบสวนโรคตั้งแต่เมื่อไร และเสร็จสิ้นเมื่อไร สามารถระบุวัตถุประสงค์ในการสอบสวนโรคไว้ในส่วนนี้

2. ผลการสอบสวน
เป็นส่วนที่แสดงผลที่ได้จากการสอบสวนโรค หากเป็นการสอบสวนโรคเฉพาะราย ให้เขียนบรรยายรายละเอียดสำคัญๆของผู้ป่วย เช่น อาการ อาการแสดง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยโรค และการรักษา ข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการเดินทาง ประวัติสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยง หรือสาเหตุการเกิดโรค ในกรณีที่เป็นการสอบสวนการระบาดมีผู้ป่วยจำนวนหลายราย ให้นำข้อมูลผู้ป่วยมาเรียบเรียงและนำเสนอด้วยการแจกแจงตามตัวแปร บุคคล เวลา และสถานที่ ในบางเหตุการณ์ระบาด อาจนำเสนอกราฟเส้นโค้งการระบาด (Epidemic curve) ตามวันเริ่มป่วย หรือใช้แผนที่แสดงการกระจายของผู้ป่วยตามพื้นที่ หรือภาพถ่ายแนบมาในรายงานการสอบสวนด้วย

3. กิจกรรมควบคุมโรคที่ดำเนินการแล้ว
ให้ระบุรายละเอียดว่ากิจกรรมควบคุมโรคใดที่ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น การทำลายแหล่งรังโรค การรักษาผู้ติดเชื้อ การให้สุขศึกษากับประชาชนในพื้นที่เกิดโรค ตลอดจนถึงการเก็บวัตถุตัวอย่างส่งตรวจ การติดตามผู้สัมผัสโรค การเฝ้าระวังการระบาดต่อเนื่อง ถ้าหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ให้ระบุว่าหน่วยงานใด ได้ดำเนินการในเรื่องใดไปบ้าง และกิจกรรมเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการควบคุมโรคในพื้นที่อย่างไรบ้าง

4. แนวโน้มของการระบาด
จากข้อมูลสถานการณ์โรคที่ได้จากการสอบสวนโรค ตลอดจนถึงประสิทธิผลของกิจกรรมควบคุมโรคที่ดำเนินการแล้ว ให้พยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ของการระบาดของโรค เช่น จำนวนผู้ป่วยกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคุมสถานการณ์ได้ยาก หรือการระบาดกำลังสงบลง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่สามารถบอกแนวโน้มของการระบาดของโรคได้ เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ ควรบอกเหตุผลไว้ด้วย ข้อมูลในส่วนนี้มีความสำคัญต่อการทำงานของผู้บริหารสาธารณสุขในการตัดสินใจสั่งการ หรือให้การสนับสนุนการทำงาน

5. สรุปความสำคัญทางสาธารณสุขและความเร่งด่วน
จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสอบสวนทางระบาดวิทยา ให้สรุปสถานการณ์ ระบุขนาดของปัญหาและผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของประชาชน บอกให้ทราบว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ หรือเป็นการระบาดของโรคที่รู้จักอยู่แล้วใช่หรือไม่ มีความต้องการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาในทันทีหรือไม่ โดยอาจจะพิจารณาเรื่องระดับของผลกระทบทางด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ประกอบด้วย

6. ข้อเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ให้เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการที่ใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคที่ควรจะต้องดำเนินงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเดิมที่จะให้ทำต่อเนื่อง หรือมาตรการใหม่ๆ ในกรณีที่ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานสาธารณสุขนอกพื้นที่ หรือหน่วยงานกระทรวงอื่นๆ ให้ระบุเรื่องที่ต้องประสานงานไว้ให้ชัดเจน

2. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาสรุปเสนอผู้บริหาร

ใช้รูปแบบเดียวกันกับการเขียนรายงานการสอบสวน ฉบับสมบูรณ์ แต่ลดจำนวนองค์ประกอบลงให้
เหลือเพียงองค์ประกอบหลักๆ เท่านั้น ซึ่งผู้เขียนรายงานสามารถปรับเพิ่มได้ตามความเหมาะสม

องค์ประกอบของรายงานการสอบสวนสรุปเสนอผู้บริหาร (Final report)
1. ชื่อเรื่อง (Title)
2. ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค (Authors and investigation team)
3. บทนำหรือความเป็นมา (Introduction or Background)
4. วัตถุประสงค์ (Objectives)
5. วิธีการศึกษา (Methodology)
6. ผลการสอบสวน (Results)
7. มาตรการควบคุมและป้องกันโรค (Prevention and control measures)
8. สรุปผล (Conclusion)
ส่วนรายละเอียดของการเขียนรายงานสรุปเสนอผู้บริหาร ใช้วิธีการเช่นเดียวกับการเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา ฉบับสมบูรณ์
3. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา ฉบับสมบูรณ์



การเขียนรายงานการสอบสวน ฉบับสมบูรณ์ เป็นการบันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์การระบาดของ
โรคและผลการสอบสวนโรค โดยใช้หลักการและรูปแบบการเขียน เช่นเดียวกับเอกสารวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถใช้เป็นผลงานวิชาการของเจ้าหน้าที่งานระบาดวิทยาได้อย่างดี

องค์ประกอบของรายงานการสอบสวน ฉบับสมบูรณ์ (Full report)
1. ชื่อเรื่อง (Title)
2. ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค (Authors and investigation team)
3. บทคัดย่อ (Abstract)
4. บทนำหรือความเป็นมา (Introduction or Background)
5. วัตถุประสงค์ (Objectives)
6. วิธีการศึกษา (Methodology)
7. ผลการสอบสวน (Results)
8. มาตรการควบคุมและป้องกันโรค (Prevention and control measures)
9. วิจารณ์ผล (Discussion)
10. ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวน (Limitations)
11. สรุปผล (Conclusion)
12. ข้อเสนอแนะ (Recommendations)
13. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgment)
14. เอกสารอ้างอิง (References)

1. ชื่อเรื่อง (Title)
เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของรายงาน ที่จะบอกให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นการสอบสวนทางระบาดวิทยาเรื่องอะไร เกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไร ควรเลือกใช้ข้อความที่สั้นกระชับ ตรงประเด็น ได้ความหมายครบถ้วน

2. ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค (Authors and investigation team)
ระบุชื่อ ตำแหน่งและหน่วยงานสังกัดของผู้รายงาน และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆที่ร่วมในทีมสอบสวนโรค

3. บทคัดย่อ (Abstract)
เป็นส่วนที่สรุปสาระสำคัญทั้งหมดของการระบาดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความยาวประมาณ 250-350 คำ ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ ชื่อผู้รายงานและหน่วยงาน ความเป็นมา วัตถุประสงค์ วิธีการศึกษา ผลการศึกษา มาตรการควบคุมโรค และสรุปผล

4. บทนำหรือความเป็นมา (Introduction or Background)
เป็นส่วนที่บอกถึงที่มาของการออกไปสอบสวนโรค เช่น การได้รับแจ้งข่าวการเกิดโรคจากใคร หน่วยงานใด เมื่อไร และด้วยวิธีใด คณะที่ออกไปร่วมสอบสวนประกอบด้วยใครหรือหน่วยงานใดบ้าง เริ่มสอบสวนโรคตั้งแต่เมื่อไร และเสร็จสิ้นเมื่อไร

5. วัตถุประสงค์ (Objectives)
เป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากในการเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านทราบในเบื้องต้นว่า ผู้สอบสวนโรคมีวัตถุประสงค์อะไรบ้างในการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดแนวทาง และขอบเขตของวิธีการศึกษาที่จะใช้ค้นหาคำตอบในการสอบสวน

6. วิธีการศึกษา (Methodology)
เป็นส่วนที่บอกถึงวิธีการที่ใช้ในการค้นหาความจริงและตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ช่วยให้ผู้อ่านรู้ว่ามีวิธีการศึกษาอย่างไรบ้าง ในรูปแบบการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ให้นิยามผู้ป่วยอย่างไร มีเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์อะไรบ้างที่ใช้ในการหาคำตอบ ได้มีการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์เพื่อตอบสมมติฐานด้วยหรือไม่ ถ้ามีเป็นรูปแบบการศึกษาใด มีการศึกษาทางสภาพแวดล้อมหรือไม่ และมีการเก็บวัตถุตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างไร รวมทั้งให้บอกวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

7. ผลการสอบสวน (Results)
เป็นส่วนที่แสดงผลที่ได้จากการสอบสวนโรคทั้งหมด ข้อมูลจะถูกนำมาเรียบเรียงผลการศึกษาตามตัวแปร บุคคล เวลา และสถานที่ อาจจะใช้รูปแบบการนำเสนอด้วยตาราง กราฟ แผนภูมิ ตามความเหมาะสม โดยการเสนอผลการสอบสวน ต้องเขียนให้สอดคล้องกับวิธีการศึกษาและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ รายละเอียดและแนวทางการเขียนผลการสอบสวน มีดังนี้
1. ยืนยันการวินิจฉัยโรค แสดงข้อมูลให้ทราบว่ามีการเกิดโรคจริง โดยอาศัยผลการวินิจฉัยของแพทย์ ประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ อาจใช้อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลักในโรคที่ยังไม่ได้รับการยืนยันการวินิจฉัย เช่น ถ้าเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

2. ยืนยันการระบาด ในกรณีที่มีการระบาดของโรค ต้องแสดงข้อมูลให้ผู้อ่านเห็นว่ามีการระบาด (Outbreak) เกิดขึ้นจริง มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติเท่าไร โดยแสดงตัวเลขจำนวนผู้ป่วยหรืออัตราป่วยที่คำนวณได้ ส่วนในกรณีที่เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ให้แสดงข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยในเวลานี้ เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในปีที่ผ่านๆมา ในระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจจะใช้ค่า Median 3-5 ปี ย้อนหลัง หรือข้อมูลจากปีที่ผ่านมา แล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละกรณี

3. ข้อมูลทั่วไป เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นสภาพทั่วไปของพื้นที่เกิดโรค ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย
- ข้อมูลประชากร เช่น จำนวนประชากรแยกเพศ กลุ่มอายุ หรืออาชีพ
- ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เกิดโรค
- การคมนาคม และพื้นที่ติดต่อที่มีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรค
- ข้อมูลเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ที่มีผลต่อการเกิดโรค
- ข้อมูลทางสุขาภิบาล สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม

4. ผลการศึกษาทางระบาดวิทยา
4.1 ระบาดวิทยาเชิงพรรณนา เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเกิดโรคและการกระจายของโรค ทางระบาดวิทยา ได้แก่
- ลักษณะการกระจายของโรคตามลักษณะบุคคล ระบุกลุ่มอายุ เพศ หรืออาชีพที่มีอัตราป่วยสูงสุด ต่ำสุด และกลุ่มใดที่พบว่าเกิดโรคมากที่สุด และแสดงอัตราป่วยที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มผู้ป่วย (Attack rate)
- ลักษณะการกระจายตามเวลา แสดงระยะเวลาของการเกิดโรคตั้งแต่รายแรกถึงรายสุดท้ายตามวันที่เริ่มป่วย ประมาณระยะฟักตัวของโรคจาก Epidemic curve อธิบายลักษณะการเกิดโรคว่าเป็นการระบาดแบบใด เช่น แหล่งโรคร่วมหรือแหล่งโรคแพร่กระจาย
- ลักษณะการกระจายตามสถานที่ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการเกิดโรคในแต่ละพื้นที่ ในรูปของ Attack Rate ตัวอย่างเช่น อัตราป่วยจำแนกตามชั้นเรียน หรือจำแนกตามหมู่บ้าน รวมถึงการจัดทำ Spot map แสดงการกระจายของผู้ป่วยตามพื้นที่ เป็นการแสดงจุดที่เกิดผู้ป่วยรายแรก (index case) และผู้ป่วยรายต่อๆมา ที่แยกสีตามระยะเวลาก็ได้
4.2 ระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ เป็นส่วนที่แสดงผลการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ โดยนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ เช่น
- การทดสอบปัจจัยที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรค โดยนำเสนอผลการวิเคราะห์ในตาราง หาค่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มคนที่ป่วยและไม่ป่วยด้วยค่า Relative Risk หรือ Odds Ratio และค่าความเชื่อมั่น 95% (95% Confidence interval)
- การทดสอบทางสถิติ เพื่อดูว่าอัตราป่วยในกลุ่มคนที่ได้รับและไม่ได้รับปัจจัยที่สงสัยจะเป็นสาเหตุของโรค มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ โดยใช้ Chi-Square test

5. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นส่วนที่แสดงให้ทราบว่าในการสอบสวนครั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างอะไรส่งตรวจ เก็บจากใครบ้าง จำนวนกี่ราย และได้ผลการตรวจเป็นอย่างไร แสดงสัดส่วนของการตรวจที่ได้ผลบวกเป็นร้อยละ โดยจำแนกเป็น การเก็บตัวอย่างจากคน เช่น การเก็บ Rectal swab, Throat swab, Serum และการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวอย่างอาหาร น้ำ หรือวัสดุอื่นๆ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

6. ผลการศึกษาสภาพแวดล้อม เป็นส่วนที่จะอธิบายเหตุการณ์แวดล้อมที่มีความสำคัญต่อการระบาดของโรค อาทิเช่น สภาพของโรงครัว แหล่งน้ำ ส้วม รายละเอียดขั้นตอนและกรรมวิธีการปรุงอาหาร มีขั้นตอนโดยละเอียดอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง

7. ผลการเฝ้าระวังโรค เพื่อให้ทราบว่าสถานการณ์ระบาดได้ยุติลงจริงหรือไม่ จึงควรที่จะได้ทำการเฝ้าระวังโรคต่ออีกเป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะฟักตัวของโรค เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นอีก

8. มาตรการควบคุมและป้องกันโรค (Prevention and control measures)
ให้ระบุรายละเอียดว่ามีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอะไรบ้างที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาตรการใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ และมาตรการใดที่เตรียมจะดำเนินการต่อไปในภายหน้า

9. วิจารณ์ผล (Discussion)
เป็นส่วนที่ผู้สอบสวนโรคจะวิจารณ์ผลการสอบสวนโรคที่ได้ทำ โดยใช้ความรู้ที่ค้นคว้าเพิ่มเติมมาอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิเคราะห์หาเหตุผลและสมมติฐานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังอาจชี้ให้เห็นว่าการระบาดในครั้งนี้แตกต่างหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับการระบาดในอดีตหรือไม่ อย่างไร

10. ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวน (Limitations)
การสอบสวนโรคครั้งนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ที่ทำให้เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการสอบสวนโรค ส่งผลให้ไม่สามารถตอบวัตถุประสงค์ได้ตามต้องการ ควรเขียนออกมาเป็นข้อๆ พร้อมทั้งบอกแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละข้อ เพราะจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่จะทำการสอบสวนทางระบาดวิทยาของโรคเดียวกันนี้ในครั้งต่อไป

11. สรุปผลการสอบสวน (Conclusion)
เป็นการสรุปสาระสำคัญที่ค้นพบจริงจากการสอบสวนทางระบาดวิทยา เป็นการสรุปรวบยอดเพื่อตอบวัตถุประสงค์และสมมติฐานที่ตั้งไว้ อธิบายถึงความสัมพันธ์ของการเกิดโรคตามบุคคล เวลา สถานที่ โดยทั่วๆ ไป การสรุปผลการสอบสวนควรจะตอบคำถามในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- Etiologic agent ในการเกิดโรคคืออะไร โดยใช้อาการแสดง อาการของโรค และรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระยะฟักตัว หรือ Epidemic curve
- Source of infection คืออะไร บางโรคอาจหาได้ หรือบางโรคอาจหาไม่ได้ ถ้าไม่สามารถค้นหาได้ควรจะบอกในรายงานด้วย
- Mode of transmission ระบุลักษณะการถ่ายทอดโรคว่าเป็นอย่างไร
- High risk group กลุ่มประชากรที่เสี่ยง คือกลุ่มใด
- Risk factor ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมีอะไรบ้าง
- Current situation สถานการณ์ของโรคหรือเหตุการณ์ สงบเรียบร้อย หรือระบาดซ้ำ

12. ข้อเสนอแนะ (Recommendations)
ข้อเสนอแนะที่ผู้สอบสวนและทีมงาน เสนอแนะต่อหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการสอบสวนโรคในครั้งนี้ อาจจะเป็นข้อเสนอในเรื่องมาตรการควบคุมป้องกันการเกิดโรคในเหตุการณ์ครั้งนี้ หรือแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในอนาคต หรือเป็นเข้อเสนอแนะที่จะช่วยทำให้การสอบสวนโรคมีประสิทธิภาพได้ผลดีมากขึ้น

13. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgment)
ให้กล่าวขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนโรค และให้การสนับสนุนด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนผู้ที่ให้ข้อมูลอื่นๆ ประกอบการทำงานสอบสวนโรคหรือเขียนรายงาน ซึ่งรายชื่อที่ปรากฏในส่วนของกิตติกรรมประกาศ จะไม่ซ้ำกับชื่อที่อยู่ในส่วนของทีมสอบสวนโรค

14. เอกสารอ้างอิง (References)
โดยทั่วไปเมื่อมีการค้นคว้าหาข้อมูลทางวิชาการจากเอกสารทางการแพทย์หรือวารสารวิชาการต่างๆ เพื่อประกอบการเขียนรายงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการวิจารณ์ผลหรือเนื้อหาส่วนอื่นก็ตาม ควรจะต้องทำการอ้างอิงชื่อผู้เขียน ชื่อบทความ ชื่อเอกสารนั้นและรายละเอียดอื่นๆ มาแสดงไว้ในส่วนเอกสารอ้างอิง เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจสามารถไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปได้ ปัจจุบัน รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในงานเขียนเอกสารวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ การอ้างอิงแบบแวนคูเวอร์ (Vancouver style)

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเขียนรายงาน
1. ผู้เขียนได้รับความรู้เพิ่มเติมจากการทบทวนความรู้จากหนังสือ เอกสาร วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสังเคราะห์ความรู้จากเหตุการณ์และกิจกรรมที่ดำเนินการในขณะทำการสอบสวน
2. ผู้บริหารสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และสามารถนำข้อมูลจากการสอบสวนโรค ไปวางแผนเพื่อควบคุมและป้องกันโรคต่อไป
3. ผู้อ่านที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับงานระบาดวิทยาได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสอบสวนทางระบาดวิทยาเพิ่มขึ้น
4. ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของการสอบสวนทางระบาดวิทยาในประเทศไทย


เอกสารอ้างอิง
1. อรพรรณ แสงวรรณลอย การเขียนรายงานการสอบสวนโรค. เอกสารอัดสำเนา. กองระบาดวิทยา; 2532.
2. ศุภชัย ฤกษ์งาม. แนวทางการสอบสวนทางระบาดวิทยา. กองระบาดวิทยา; 2532 .
3. ธวัชชัย วรพงศธร, การเขียนอ้างอิงในรายงานวิจัย. คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล; 2534.
4. อรวรรณ์ ชาแสงบง. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา. เอกสารอัดสำเนา. ศูนย์ระบาดวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ; 2532.
5. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา. เอกสารอัดสำเนา. กองระบาดวิทยา; 2543.
ที่มา: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

การเขียนเอกสารอ้างอิงแบบแวนคูเวอร์ (Vancouver Style)

รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิง ที่ใช้ในวารสารวิชาการแพทย์และสาธารณสุขทั่วไป มักนิยมใช้การอ้างอิงรูปแบบแวนคูเวอร์ (Vancouver Style) ในปัจจุบัน International Committee of Medical Journal Editor ยังคงแนะนำให้ใช้รูปแบบแวนคูเวอร์ แต่เพิ่มเติมรายละเอียดให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ในการอ้างถึงเอกสารวิชาการรูปแบบแวนคูเวอร์ ให้เรียงลำดับของเอกสาร ตามลำดับเลขที่มีการอ้างถึงในเนื้อหารายงานหรือบทความ และหมายเลขที่อ้างถึงในเนื้อเรื่องนั้น จะต้องตรงกับหมายเลขที่มีการกำกับไว้ในส่วนเอกสารอ้างอิงด้วย โดยเรียงลำดับจากหมายเลข 1 ไปจนถึงเลขที่สุดท้าย (1, 2, 3,…) ให้เขียนหมายเลขอยู่ในวงเล็บ ( ) ต่อท้ายข้อความที่นำมาอ้างอิงในรายงาน

ประเภทของเอกสารวิชาการที่นำมาอ้างอิง
ประเภทและที่มาของเอกสารวิชาการที่จะนำมาอ้างอิง จะเป็นตัวกำหนดรายละเอียดในการเขียนเอกสารอ้างอิง
1. บทความจากวารสารวิชาการมาตรฐาน (Standard journal article)
ส่วนสำคัญที่ต้องลงในรายการเอกสารอ้างอิง คือ
- ชื่อผู้นิพนธ์ (Authors)
- ชื่อบทความ (Title)
- ชื่อวารสาร (Title of journal)
- ปีที่ตีพิมพ์ (Year)
- ปีที่ของวารสาร (Volume)
- เล่มที่ (Issue number)
- หน้า (Pages)
1.1 ผู้นิพนธ์คนเดียวหรือหลายคน

1. Halpern SD, Ubel PA, Caplan AL. Solid-organ transplantation in HIV-infected patients. N Engl J Med. 2002; 347(4):284-7.
2. อภิชาต โอฬารรัตนชัย, ธีระพร วุฒยวนิช. การสร้างช่องคลอดเทียมโดยอาศัยเยื่อถุงน้ำคร่ำ. เชียงใหม่เวชสาร 2532; 29:129-136.

รายชื่อผู้นิพนธ์ภาษาอังกฤษ ให้เรียงตามลำดับ โดยเริ่มจาก นามสกุล แล้วตามด้วยชื่อ ไม่ต้องใส่เครื่องหมายวรรคตอนต่อท้ายนามสกุล ใช้เครื่องหมาย , หลังชื่อทุกคน ถ้าผู้นิพนธ์มีมากกว่า 6 คน ให้ใส่ชื่อ 6 คนแรก ตามด้วยคำว่า “et al.”
1.2 ผู้นิพนธ์เป็นคณะบุคคล

1. Diabetes Prevention Program Research Group. Hypertension, insulin, and proinsulin in participants with impaired glucose tolerance. Hypertension. 2002; 40(5):679-86.

1.3 ไม่ปรากฏชื่อผู้นิพนธ์

1. 21st century heart solution may have a sting in the tail. BMJ. 2002; 325(73):184.

2. หนังสือ
2.1 ผู้นิพนธ์คนเดียว

1. Murray PR. Medical microbiology. 4th ed. St. Louis: Mosby; 2002.
2. เกษม วัฒนชัย. การดูแลรักษาโรคความดันโลหิตสูง (Clinical management of essential hypertension). กรุงเทพ: พัฒนาศึกษา; 2532.

2.2 หนังสือที่มีบรรณาธิการ ผู้รวบรวม หรือประธานเป็นผู้แต่ง

1. Gilstrap LC, Cunningham FG, VanDorsten JP, editors. Operative obstetrics. 2nd ed. New York: McGraw-Hill; 2002.
2. วีระพล จันทร์ดียิ่ง, สนทิศ สุทธิจำรูญ, บรรณาธิการ. นรีเวชวิทยาเด็กและหญิงวัยรุ่นสาว. สงขลา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; 2531.

2.3 บทหนึ่งในหนังสือ

1. Meltzer PS, Kallioniemi A, Trent JM. Chromosome alterations in human solid tumors. In: Vogelstein B, Kinzler KW, editors. The genetic basis of human cancer. New York: McGraw-Hill; 2002. p. 93-113.
2. ประสงค์ ตู้จินดา. บทนำและประวัติทางการแพทย์เกี่ยวกับทารกแรกเกิด. ใน: ประพุทธ ศิริปุณย์ อุรพล บุญประกอบ. (บรรณาธิการ) ทารกแรกเกิด พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: โครงการตำรา ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; 2533. หน้า 1-6.

2.4 หน่วยงานเป็นผู้นิพนธ์

1. Royal Adelaide Hospital; University of Adelaide, Department of Clinical Nursing. Compendium of nursing research and practice development, 1999-2000. Adelaide (Australia): Adelaide University; 2001.

3. เอกสารอื่นๆ
3.1 วิทยานิพนธ์

1. Cairina RB. Infrared spectroscopic studies of solid oxygen (Dissertation). Berkeley, University of California; 1995. 156p.
2. สมภพ บุญทิม. ผลทางไซโตเจเนติกของสารคดี จากไพล (Zingiber cassumunar Roxb.) ต่อโครโมโซมของมนุษย์ที่เตรียมจากลิมฟ์โฟซัยที่เพาะเลี้ยง. (วิทยานิพนธ์) เชียงใหม่:มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2533. 75 หน้า.

3.2 บทความในเอกสารการประชุมวิชาการ

1. Christensen S, Oppacher F. An analysis of Koza's computational effort statistic for genetic programming. In: Foster JA, Lutton E, Miller J, Ryan C, Tettamanzi AG, editors. Genetic programming. EuroGP 2002: Proceedings of the 5th European Conference on Genetic Programming; 2002 Apr 3-5; Kinsdale, Ireland. Berlin: Springer; 2002. p.182-91.
2. ประมวล วีรุตมเสน. การปฏิสนธินอกร่างกาย และการย้ายฝากตัวอ่อนในคน. ใน : อุกฤษต์ เปล่งวาณิช, เสบียง ศรีวรรณบูรณ์, มลินี มาลากุล, บรรณาธิการ. การประชุมใหญ่ทางวิชาการฉลอง 100 ปี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพ: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; 2534. หน้า 5-7.

3.3 เอกสารรวบรวมจากการประชุมวิชาการที่จัดพิมพ์ตามหลังการประชุม
1. Harnden P, Joffe JK, Jones WG, editors. Germ cell tumours V. Proceedings of the 5th Germ Cell Tumour Conference; 2001 Sep 13-15; Leeds, UK. New York: Springer; 2002.
4. แหล่งข้อมูลอิเลคโทรนิก
4.1 CD-ROM
1. Anderson SC, Poulsen KB. Anderson's electronic atlas of hematology [CD-ROM]. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2002.

4.2 Journal article on the Internet
1. Abood S. Quality improvement initiative in nursing homes: the ANA acts in an advisory role. Am J Nurs [serial on the Internet]. 2002 Jun [cited 2002 Aug 12];102(6):[about 3 p.]. Available from:
http://www.nursingworld.org/AJN/2002/june/Wawatch.htm

4.3 Monograph on the Internet
1. Foley KM, Gelband H, editors. Improving palliative care for cancer [monograph on the Internet]. Washington: National Academy Press; 2001 [cited 2002 Jul 9]. Available from: http://www.nap.edu/books/0309074029/html/
4.4 Homepage/Web site
1. Cancer-Pain.org [homepage on the Internet]. New York: Association of Cancer Online Resources, Inc.; c2000-01 [updated 2002 May 16; cited 2002 Jul 9]. Available from:
http://www.cancer-pain.org/
4.5 Part of a homepage/Web site
1. American Medical Association [homepage on the Internet]. Chicago: The Association; c1995-2002 [updated 2001 Aug 23; cited 2002 Aug 12]. AMA Office of Group Practice Liaison; [about 2 screens]. Available from:
http://www.ama-assn.org/ama/pub/category/1736.html
4.6 Database on the Internet
Open database:
1. Who's Certified [database on the Internet]. Evanston (IL): The American Board of Medical Specialists. c2000 - [cited 2001 Mar 8]. Available from:
http://www.abms.org/newsearch.asp
Closed database:
1. Jablonski S. Online Multiple Congential Anomaly/Mental Retardation (MCA/MR) Syndromes [database on the Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US). c1999 [updated 2001 Nov 20; cited 2002 Aug 12]. Available from:
http://www.nlm.nih.gov/mesh/jablonski/syndrome_title.html

4.7 Part of a database on the Internet
1. MeSH Browser [database on the Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); 2002 - [cited 2003 Jun 10]. Meta-analysis; unique ID: D015201; [about 3 p.]. Available from:
http://www.nlm.nih.gov/mesh/MBrowser.html Files updated weekly.

Reference:
International Committee of Medical Journal Editors. Uniform Requirements for Manuscripts Submitted to Biomedical Journals: Sample References [monograph on the Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US); [updated July 9, 2003; cited 2005 Mar 3]. [about 7 screens]. Available from: http://www.nlm.nih.gov/bsd/uniform_requirements.html

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

การวิจัยกับการจัดการความรู้ ความแตกต่างที่เหมือนกัน

นักวิจัยกับนักจัดการความรู้มีเป้าหมายอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือการสร้างองค์ความรู้ โดยการวิจัยเริ่มจากปัญหา(Problem)แล้วใช้กระบวนการวิจัย(Methodology)หาคำตอบที่กลายมาเป็นความรู้ ในขณะที่การจัดการความรู้มองไปที่ความสำเร็จ(Success)แล้วมองย้อนออกมาว่าทำอย่างไรก็ได้เป็นความรู้ขึ้นมา(KM Process) การมองจากปัญหาจึงเต็มไปด้วยข้อสงสัย แต่การมองที่ความสำเร็จจึงมีความชื่นชม ปัญหาเป็นทุกข์ เป็นเรื่องเชิงลบ ในขณะที่ความสำเร็จเป็นสุข เป็นเรื่องเชิงบวก แต่สิ่งที่ได้ออกมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เช่นกันคือความรู้ นักวิจัยและนักจัดการความรู้จึงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้และถือเป็นสิ่งสวยงามของสังคมที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆได้แต่แตกต่างต้องไม่แตกแยกและพร้อมที่จะยอมรับซึ่งกันและกันได้การวิจัยเป็นวิธีการที่สามารถสร้างองค์ความรู้แก่สังคมมานาน สิ่งที่ได้จากการวิจัยซึ่งอาจเป็นตัวแบบหรือหลักการ ทฤษฎีต้องนำไปทดลองปฏิบัติจริงเพื่อพิสูจน์ว่าถูกต้อง ในขณะที่การจัดการความรู้ นำความรู้ที่ปฏิบัติสำเร็จแล้วมาถ่ายทอดได้เลย นอกจากการสร้างองค์ความรู้แล้ว การจัดการความรู้จึงสามารถพัฒนาองค์กรและพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกันได้เลย ได้ผลดีที่มีมิติกว้างกว่า แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยก็มีประโยชน์ยิ่งถ้าปัญหานั้นยังไม่มีใครทำได้สำเร็จ การวิจัยจะช่วยสืบเสาะหาคำตอบที่ดีได้ ดังนั้นการวิจัยและการจัดการความรู้จึงมีประโยชน์ทั้งคู่เป็นเพียงเครื่องมือของมนุษยชาติที่จะหยิบมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หากมองให้ลึกขึ้นไปบางทีอาจจะเห็นว่าการวิจัยกับการจัดการความรู้เป็นเรื่องเดียวกันได้ถ้าไม่ยึดติดเฉพาะวิธีการของตน หากไม่มีไอน์สไตน์ นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ไม่เคยทำการทดลองใดๆด้วยตนเองเลยแต่สามารถจินตนาการได้อย่างแม่นยำว่าในที่สุดแล้วเมื่อความเร็วถึงจุดหนึ่งมวลจะกลายเป็นพลังงาน ในทำนองเดียวกัน ณ วันนี้มีการยอมรับกันแล้วว่าสิ่งที่เล็กที่สุดในตัวมนุษย์คือกลุ่มของพลังงานที่เรียกว่าคล๊าก(Clake) ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกหรือเปล่า นั่นคือมวลและพลังงานในตัวมนุษย์ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องการวิจัยหากมองสุดโต่งก็เป็นคนละเรื่องกับการจัดการความรู้ หากมองอย่างใกล้เคียงจะพบว่าการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จะมีความเหมือนกับการจัดการความรู้เพราะเป็นการมุ่งไปหาความรู้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth interview) การสังเกต การรวบรวมข้อมูลจากการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ตามการรับรู้และความเข้าใจของผู้วิจัยแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ สรุปผลออกมาเป็นความรู้ หรือที่ยิ่งใกล้กันเข้าไปใหญ่ก็คือการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ถ้าไม่ยึดติดกับตัวกูของกู ไม่มีอุปทานในใจแล้ว สุดท้ายการวิจัยกับการจัดการความรู้จะเป็นเรื่องเดียวกันได้ หากยกตัวอย่างที่ผมคิดว่าคลาสสิกมากๆคือการค้นพบอริยสัจ4 ของพระพุทธเจ้าที่เริ่มจากปัญหา(ทุกข์) ทำการวิเคราะห์หาทางเลือกแล้วทดลองทำหลายๆทางจนพบทางที่ถูกต้องไปสู่การพ้นทุกข์ เกิดความสำเร็จคือนิโรธ แล้วนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศคือมรรคมาถ่ายทอดต่อ ซึ่งเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ
ที่มา:นพ.พิเชฐ บัญญัติ ผชชว.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก
http://gotoknow.org/blog/practicallykm/3739