วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

การวิจัยกับการจัดการความรู้ ความแตกต่างที่เหมือนกัน

นักวิจัยกับนักจัดการความรู้มีเป้าหมายอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือการสร้างองค์ความรู้ โดยการวิจัยเริ่มจากปัญหา(Problem)แล้วใช้กระบวนการวิจัย(Methodology)หาคำตอบที่กลายมาเป็นความรู้ ในขณะที่การจัดการความรู้มองไปที่ความสำเร็จ(Success)แล้วมองย้อนออกมาว่าทำอย่างไรก็ได้เป็นความรู้ขึ้นมา(KM Process) การมองจากปัญหาจึงเต็มไปด้วยข้อสงสัย แต่การมองที่ความสำเร็จจึงมีความชื่นชม ปัญหาเป็นทุกข์ เป็นเรื่องเชิงลบ ในขณะที่ความสำเร็จเป็นสุข เป็นเรื่องเชิงบวก แต่สิ่งที่ได้ออกมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เช่นกันคือความรู้ นักวิจัยและนักจัดการความรู้จึงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้และถือเป็นสิ่งสวยงามของสังคมที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆได้แต่แตกต่างต้องไม่แตกแยกและพร้อมที่จะยอมรับซึ่งกันและกันได้การวิจัยเป็นวิธีการที่สามารถสร้างองค์ความรู้แก่สังคมมานาน สิ่งที่ได้จากการวิจัยซึ่งอาจเป็นตัวแบบหรือหลักการ ทฤษฎีต้องนำไปทดลองปฏิบัติจริงเพื่อพิสูจน์ว่าถูกต้อง ในขณะที่การจัดการความรู้ นำความรู้ที่ปฏิบัติสำเร็จแล้วมาถ่ายทอดได้เลย นอกจากการสร้างองค์ความรู้แล้ว การจัดการความรู้จึงสามารถพัฒนาองค์กรและพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกันได้เลย ได้ผลดีที่มีมิติกว้างกว่า แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยก็มีประโยชน์ยิ่งถ้าปัญหานั้นยังไม่มีใครทำได้สำเร็จ การวิจัยจะช่วยสืบเสาะหาคำตอบที่ดีได้ ดังนั้นการวิจัยและการจัดการความรู้จึงมีประโยชน์ทั้งคู่เป็นเพียงเครื่องมือของมนุษยชาติที่จะหยิบมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หากมองให้ลึกขึ้นไปบางทีอาจจะเห็นว่าการวิจัยกับการจัดการความรู้เป็นเรื่องเดียวกันได้ถ้าไม่ยึดติดเฉพาะวิธีการของตน หากไม่มีไอน์สไตน์ นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ไม่เคยทำการทดลองใดๆด้วยตนเองเลยแต่สามารถจินตนาการได้อย่างแม่นยำว่าในที่สุดแล้วเมื่อความเร็วถึงจุดหนึ่งมวลจะกลายเป็นพลังงาน ในทำนองเดียวกัน ณ วันนี้มีการยอมรับกันแล้วว่าสิ่งที่เล็กที่สุดในตัวมนุษย์คือกลุ่มของพลังงานที่เรียกว่าคล๊าก(Clake) ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกหรือเปล่า นั่นคือมวลและพลังงานในตัวมนุษย์ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องการวิจัยหากมองสุดโต่งก็เป็นคนละเรื่องกับการจัดการความรู้ หากมองอย่างใกล้เคียงจะพบว่าการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จะมีความเหมือนกับการจัดการความรู้เพราะเป็นการมุ่งไปหาความรู้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth interview) การสังเกต การรวบรวมข้อมูลจากการเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ตามการรับรู้และความเข้าใจของผู้วิจัยแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ สรุปผลออกมาเป็นความรู้ หรือที่ยิ่งใกล้กันเข้าไปใหญ่ก็คือการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ถ้าไม่ยึดติดกับตัวกูของกู ไม่มีอุปทานในใจแล้ว สุดท้ายการวิจัยกับการจัดการความรู้จะเป็นเรื่องเดียวกันได้ หากยกตัวอย่างที่ผมคิดว่าคลาสสิกมากๆคือการค้นพบอริยสัจ4 ของพระพุทธเจ้าที่เริ่มจากปัญหา(ทุกข์) ทำการวิเคราะห์หาทางเลือกแล้วทดลองทำหลายๆทางจนพบทางที่ถูกต้องไปสู่การพ้นทุกข์ เกิดความสำเร็จคือนิโรธ แล้วนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศคือมรรคมาถ่ายทอดต่อ ซึ่งเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ
ที่มา:นพ.พิเชฐ บัญญัติ ผชชว.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก
http://gotoknow.org/blog/practicallykm/3739

2 ความคิดเห็น:

ดอยสอยดาว กล่าวว่า...

เป็นความรู้ที่ดีครับ ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

Dr.Roj กล่าวว่า...

ดีเเละเป็นประโยชน์มากครับ

หมอโรจน์